ข่าวสาร OAE

นครพนม แหล่งผลิต ลิ้นจี่อันดับ 1 ภาคอีสาน โชว์สายพันธุ์ นพ.1 สินค้า GI เกษตรกรรวมกลุ่มแปลงใหญ่ รุกขยายตลาดทุกช่องทาง

นครพนม แหล่งผลิต ลิ้นจี่อันดับ 1 ภาคอีสาน

โชว์สายพันธุ์ นพ.1 สินค้า GI เกษตรกรรวมกลุ่มแปลงใหญ่ รุกขยายตลาดทุกช่องทาง

          นางสาวปวริศา ศิริกุล รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิต ลิ้นจี่ ในพื้นที่รับผิดชอบจังหวัดนครพนม ซึ่งนับเป็นจังหวัดที่ผลิตลิ้นจี่อันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2565  พบว่า จังหวัดนครพนม มีพื้นที่ปลูกลิ้นจี่ 2,403 ไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 1,217 ตัน ส่วนใหญ่อยู่ในอําเภอเมือง ท่าอุเทน และ ธาตุพนม เกษตรกรนิยมปลูกช่วงเดือนพฤษภาคม และจะเริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 4  และให้ผลผลิตมากกว่า 30 ปี โดยลิ้นจี่ มักจะออกดอกช่วงเดือนธันวาคม และเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนปลายมีนาคม – พฤษภาคมของทุกปี  
จากการลงพื้นที่ของ สศท.3 พบว่า เกษตรกรจังหวัดนครพนม นิยมลิ้นจี่พันธุ์ นพ.1 เนื่องจากมีลักษณะเด่น เฉพาะตัว  คือ มีผลใหญ่ เนื้อแห้งไม้เละ มีรสหวาน อมเปรี้ยวเล็กน้อย ไม่มีรสฝาด ทําให้เป็นที่นิยมรับประทาน และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ และยังได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ (Geographical Indications หรือ GI) ตั้งแต่ปี 2560  สำหรับราคาต้นพันธุ์ นพ.1 อยู่ระหว่าง 80 - 100 บาท/ต้น (1 ไร่ นิยมปลูกประมาณ 25 ต้น) ต้นทุนการผลิตของพันธุ์ นพ.1 เฉลี่ย 5,597 บาท/ไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 695 กิโลกรัม/ไร่/ปี ราคาที่เกษตรกรขายได้ในรอบปี 2564 อยู่ระหว่าง 60 - 80 บาท/กิโลกรัม คิดเป็นผลตอบแทน 41,700 - 55,600 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) ระหว่าง 36,100 - 50,000 บาท/ไร่/ปี โดยขณะนี้ (เดือนมกราคม 2565) ลิ้นจี่ นพ.1 ของจังหวัดนครพนมกำลังติดผลอ่อน และคาดว่าจะเริ่มให้ผลผลิตในเดือนมีนาคม และผลผลิตออกจะมากในเดือนเมษายน 2565
“ลิ้นจี่ นพ.1 ในพื้นที่ จ.นครพนม ส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ในช่วง 8 - 10 ปี ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ซึ่งนับเป็น   สายพันธุ์ที่ได้จากการกลายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด มีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่สถานีทดลองพืชสวนนครพนม (ศวพ.นครพนม) อีกทั้งเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่จังหวัดนครพนมมีแผนส่งเสริมพัฒนาการผลิตและการตลาด ให้เป็นสินค้าสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร เนื่องจากตลาดต้องการสูง ดังนั้น ลิ้นจี่ นพ.1 จึงนับว่าเป็นพืชอนาคตไกลที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร  และมีเกษตรกรเริ่มหันมาสนใจเพาะปลูก โดยปัจจุบันมีการรวมกลุ่มจัดตั้งแปลงใหญ่ผู้ปลูกลิ้นจี่ นพ.1 มีเกษตรกรสมาชิกประมาณ 60 ราย ซึ่งทางกลุ่มแปลงใหญ่ มีการทำ MOU การจําหน่ายลิ้นจี่ นพ.1 ล่วงหน้ากับไปรษณีย์ไทยออนไลน์ ทั่วประเทศ วางจําหน่ายในห้างสรรพสินค้าแม็คโคร/ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงส่งออกประเทศจีน โดยในปี 2565  ทางกลุ่มคาดว่าจะเพิ่มช่องทางการตลาดให้นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชม ชิม ช้อป ที่สวนอีกด้วย” นางสาวปวริศา กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2565 จังหวัดนครพนมมีการสนับสนุนเกษตรกรปลูกลิ้นจี่ นพ.1 ภายใต้โครงการส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่สําคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนม และมีคณะทํางานด้านการตลาดระดับจังหวัดเข้าขับเคลื่อนการค้าและจัดหาช่องทางการตลาดเพื่อจําหน่ายเพิ่มเติมทั้งในรูปแบบออนไลน์ การทําเกษตรพันธะสัญญา และการสร้างเวทีการจับคู่ธุรกิจ จัดทําระบบคุณภาพ หรือ GAP เป็นสินค้าเกรดพรีเมียม อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรเฝ้าระวังโรค อาทิ โรคใบจุดสนิม หรือจุดสาหร่าย โรคลําต้นและกิ่งแห้ง โรคราดํา โรคเปลือกผลไหม้ โรคผลแตก โรคผลร่วง โรครา น้ำค้างเทียม หรือโรคผลไหม้สีน้ำตาล และโรคผลเน่าภายหลังจากการเก็บ เพื่อลดการสูญเสียของผลผลิต และเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง ควรมีการใช้นวัตกรรมหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา และลดอัตราการเน่าเสียของผลผลิต โดยหากท่านใดสนใจศึกษาดูงานกลุ่มแปลงใหญ่ผู้ปลูกลิ้นจี่ นพ.1 หมู่ 2 บ้านขามเฒ่า ตําบลขามเฒ่า อําเภอเมือง จังหวัดนครพนม สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่คุณรัศมี อุทาวงศ์ ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ลิ้นจี่ นพ.1 โทรศัพท์ 081 320 1685 หรือ สํานักงานเกษตรจังหวัดนครพนม โทรศัพท์ 0 4251 1215 ในวันและเวลาราชการ