บทความ OAE

10 สัญญาณเตือน ภาวะการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ (low-self esteem)

หมวดหมู่ : 

การเห็นคุณค่าในตนเอง (self-esteem) คือ การมองและประเมินตัวเองอย่างที่เราเป็น เป็นความเชื่อมั่นในคุณค่าและความสามารถของตัวเอง หากเรามีการเห็นคุณค่าในตนเองที่ดี เราจะมีความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกมีพลังในการใช้ชีวิต หากรู้สึกไม่ค่อยดีกับตนเอง ไม่ชอบตนเอง ไม่ค่อยภูมิใจในตนเอง ขาดความเชื่อมั่น ความศรัทธา ไม่เห็นคุณค่าหรือเคารพตนเอง นั่นเป็นสัญญาณเตือนของผู้ที่มีภาวะการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ (low-self esteem) ซึ่งจะสามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ หากใครมีความสงสัยว่าตนเองหรือคนรอบข้างเข้าข่ายภาวะดังกล่าว มารีเช็กได้ในบทความนี้

10 สัญญาณเตือน ภาวะการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ (low-self esteem)

10 สัญญาณเตือน ภาวะการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ (low-self esteem)

ลองอ่านและเช็กดูว่า เราเข้าข่ายเป็นคนที่มีภาวะ “การเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ” หรือไม่ เพื่อให้รู้ทันอารมณ์และความคิดของตัวเอง 

1. อ่อนไหวง่ายต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้อื่น

มักจะทนไม่ได้เมื่อมีคนมาวิพากษ์วิจารณ์ตน และมักจะแสดงออกทางอารมณ์ เช่น 

เศร้า เสียใจ โกรธ โมโห อย่างเห็นได้ชัด

2. จิตตกง่ายกับเรื่องเล็ก ๆ

จิตตก เศร้าเสียใจง่าย แม้ได้รับการกระทบกระทั่งเพียงเล็กน้อย ก็จะเกิดอาการคิดมาก สะเทือนใจได้ง่าย

3. กลัวการเข้าสังคม 

กลัวการเข้าสังคม มองคนอื่นในแง่ลบ หรือกลัวการถูกปฏิเสธ เช่น ไม่กล้าพูดคุย ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น บางคนเลยเก็บตัว ไม่พบเจอใครเลย ถ้ามีอาการมากอาจตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับผู้อื่นไปเลย

4. คอยเช็กเรตติ้งของตนเองอยู่ตลอด

เช็กเรตติงของตนเองอยู่ตลอด หรือเรียกร้องความสนใจ จากการต้องการการยอมรับ และความรักจากผู้อื่น เช่น การลงรูปเพื่อเรียกยอดไลก์อยู่เป็นประจำ

5. วิตกกังวล คิดมากจนไม่มีความสุขใจ

วิตกกังวล กระวนกระวายง่าย ขาดความสงบสุขทางใจ เกิดจากการขาดความเชื่อมั่น และศรัทธาในตนเอง

6. กลัวทำผิดพลาดจนเกิดภาวะย้ำคิดย้ำทำ

กลัวทำผิดพลาด ย้ำคิดย้ำทำ เนื่องจากกลัวไม่สมบูรณ์แบบแล้วจะทำให้รู้สึกว่า ตนเองไม่ดี ไม่มีค่า

7. ไม่กล้าลงมือทำสิ่งต่าง ๆ 

ไม่กล้าลงมือทำสิ่งต่าง ๆ เพราะไม่มีความเชื่อมั่นในตนเองว่าจะดูแลจัดการสิ่งต่าง ๆ หรือแก้ปัญหาใดได้ และมักจะมองเห็นปัญหาข้างนอกใหญ่โตเกินจริง

8. ชอบวางอำนาจ ควบคุมหรือสั่งคนอื่น

ชอบวางอำนาจ หรือควบคุมสั่งการคนอื่นมากเกินไป เนื่องจากขาดความรู้สึกมั่นคงจากข้างใน เลยต้องการความยำเกรงจากผู้อื่น เพื่อทำให้ตนมีความมั่นคงและมีคุณค่า

9. หาข้ออ้างหรือแก้ตัวให้ตัวเองเสมอ

พยายามหาข้อแก้ตัว หรือหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง เพื่อไม่ให้คนอื่นเห็นข้อบกพร่อง เพราะยังยอมรับข้อบกพร่องของตนเองไม่ได้

10. เอาใจคนอื่นมากเกินไป

เอาใจคนอื่นมาก ไม่กล้าปฏิเสธ หรือไม่กล้าบอกความต้องการของตนเองตรง ๆ เพราะกลัวคนอื่นไม่รัก ไม่เป็นที่ยอมรับภายในสังคม

อาการที่ยกมาเป็นเพียงตัวอย่างอาการที่สามารถแสดงออกมาได้ ซึ่งอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยทั่วไปแล้วคนปกติ อาจจะมีลักษณะอาการเหล่านี้ได้บ้าง แต่ถ้ามีมากจนเกินไป เราอาจต้องกลับมาทบทวนตนเองกันว่า เราเห็นคุณค่า และมีความพอใจในตนเองมากน้อยแค่ไหน และถ้ายังไม่สามารถปรับวิธีคิดหรือมุมมองเพื่อให้เกิดความสุขในชีวิต ก็อาจจะลองปรึกษาหรือพบจิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา ดูเพื่อหาแนวทางแก้ไข ปรับมุมมองให้เห็นคุณค่าในตนเอง นำพอไปสู่ความสุขในการดำเนินชีวิต
 

ข้อมูลจาก
ผศ. พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล